อาณาจักรสุโขทัยมีอำนาจและพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ( พ.ศ. ๑๘๒๒ – ๑๘๔๒ ) และมีการขยายอาณาเขตลงไปทางตอนใต้จนตลอดแหลมมลายู รวมทั้งส่งเสริมพระพุทธศาสนา นำมาซึ่งการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและประติมากรรม ที่สำคัญ มีการประดิษฐ์อักษรไทยหรือลายสือไทซึ่งจารึกบนหลักศิลา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยสืบมาจนทุกวันนี้
นอกจากกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยจะทรงมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในด้านการรบแล้ว ยังทรงเป็นผู้นำในทางการค้า หลักฐานที่เชื่อได้ว่าสุโขทัยเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าปรากฎข้อความในหลักศิลาจารึกว่า " ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า " และยังมีการค้นพบเตาเผาเครื่องสังคโลกจำนวนมากที่อำเภอสวรรคโลก แสดงให้เห็นถึงปริมาณการผลิตเครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของสุโขทัย
การค้าขายในอาณาจักรสุโขทัยพบว่ามีการใช้สื่อกลางการแลกเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนเจินละฟุงถู่จี้ของเจ้าต๋ากวาน ซึ่งเดินทางผ่านอาณาจักรสุโขทัยเพื่อไปเยือนอาณาจักรเขมรประมาณ พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๘๔๐ ความว่า " การค้าเล็กน้อยจ่ายกันเป็นข้าวหรือพืชผลอื่นๆ หรือสิ่งของที่มาจากเมืองจีน ถัดมาก็ใช้ผ้า ส่วนการค้าใหญ่ๆ ใช้ทองและเงิน "
แต่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสุโขทัยคือ " เงินพดด้วง " ซึ่งเป็นเงินตราที่ชาวสุโขทัยผลิตขึ้นใช้เอง ทำด้วยโลหะเงิน สัณฐานกลม ปลายขาเงินยาวแหลมและชิดกัน มีรูขนาดใหญ่ระหว่างขา มีตราประทับเพื่อแสดงถึงแหล่งผลิต และรอยบากเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน
เงินพดด้วงในยุคแรกมีรอยบากเล็กและไม่ค่อยเรียบร้อย แต่ในยุคต่อมา รอยบากใหญ่และลึกทำได้เรียบร้อยขึ้น ปลายขาเงินงอพับเข้าหากัน จนกระทั่งในยุคหลังจึงทำรอยบากเล็กลงที่เรียกเงินชนิดนี้ว่า " เงินพดด้วง " สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า " ขดด้วง" เนื่องจากมีลักษณะเหมือนตัวอ่อนของด้วงที่งอขดอยู่ในรังไหม ภายหลังจึงเพี้ยนเสียงมาเป็นเงิน " พดด้วง "
การผลิตเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย ทางราชการเปิดโอกาสให้เจ้าเมืองประเทศราช ตลอดจนพ่อค้าและประชาชนผลิตขึ้นใช้เองได้ เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการติดต่อค้าขาย จึงพบเงินพดด้วงที่มีตราประทับแตกต่างกันหลายตรา โดยอาจเป็นตราของผู้ผลิต ของเจ้าเมืองหรือของผู้มีอำนาจรับรองเนื้อเงินก็ได้ ตราที่พบบนพดด้วงมีตั้งแต่ ๑ ตรา ไปจนถึง ๗ ตรา ตราที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ราชสีห์ ช้าง หอยสังข์ ธรรมจักร บัว กระต่ายและราชวัติ
ยังพบอีกว่าในสมัยสุโขทัยมีการนำโลหะชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่โลหะเงิน เช่น ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี มาหลอมให้มีลักษณะคล้ายพดด้วง แต่มีขนาดใหญ่กว่า เรียกแตกต่างกัน เช่น พดด้วงชิน เงินคุบ เงินชุบ หรือ เงินคุก ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเพื่อใช้เป็นน้ำหนักชั่งสิ่งของหรือเป็นเครื่องรางของขลัง
นอกจากพดด้วงซึ่งใช้เป็นเงินหลักแล้ว ชาวสุโขทัยยังใช้ " เบี้ย " เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำด้วย มีอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยหมู เบี้ยจั่น เบี้ยนาง เบี้ยบัว เบี้ยพองลม และเบี้ยตุ้ม ซึ่งเบี้ยจั่นเป็นเบี้ยที่นิยมใช้กันมากที่สุด ดังปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศิลาจารึกในสมัยพญาลิไท ได้บันทึกถึงการบำเพ็ญทานว่า " คิดพระราชทรัพย์ที่พระราชทานคือ ทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสองล้าน จีวร ๔๐๐ "
หลังจากเรืองอำนาจมาเกือบ ๒๐๐ ปี อาณาจักรสุโขทัยได้เสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกผนวกเข้าเป็นเมืองบริวารของกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย