"เงินเจียง" มีลักษณะเหมือนกับเกือกม้าสองวงปลายต่อกัน บ้างก็เรียก "เงินเกือกม้า" เป็นเงินตราสำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุดของอาณาจักรล้านนา ทำจากโลหะเงินแท้เปอร์เซ็นสูง หล่อเป็นแท่งแล้วตีให้งอและบากสามารถหักแยกออกจากกันได้เมื่อต้องการลดค่าน้ำหนักของเงินออกครึ่งหนึ่ง ตอกตราสำคัญบนตัวเงิน ได้เเก่ ตราตัวเลขบอกจำนวนราคา ตราชื่อเมืองแหล่งผลิต และตราจักร เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าเมือง บ้างก็เรียก "เงินเมือง"
![]() |
เงินเจียงเชียงแสน (แสน) |
ตราประทับจะถูกตอกที่ขาทั้งสองข้างของเงินเจียง เป็นตราของผู้มีอำนาจผลิตเงินตราในสมัยนั้น ประกอบด้วย ตราจักรประจำเมือง ชื่อเมืองที่ผลิต และเลขบอกพิกัดราคา สำหรับชื่อเมืองที่ปรากฏบนเงินเจียงนั้น พบว่ามีมากกว่า 60 เมือง เช่น แสน (เชียงแสน), หม (เชียงใหม่), กก หาง สบฝางหรือฝาง, นาน (น่าน), คอนหรือดอน (ลำปาง), แพร (แพร่) เป็นต้น
![]() |
อ้างอิง: Banchong Wangcharoenroong |
เงินเจียงที่พบมากที่สุดจะเป็นเงินเจียงจากเมืองที่มีขนาดใหญ่ มีความรุ่งเรือง และมีการติดต่อค้าขายกับคนต่างถิ่นจำนวนมาก ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ (หม) และ เมืองเชียงแสน (แสน) ตามลำดับ ซึ่งตัวอักษรที่ตอกประทับลงบนเงินเจียงนั้น เชื่อว่าเกิดขึ้นในสมัยของพญากือนา โดยยุคแรกนั้นใช้อักษรสุโขทัย แต่สมัยต่อมาได้มีการนำ อักษรฝักขาม ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้ในล้านนา เชียงตุง และสิบสองปันนา (มีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรไทยน้อยหรืออักษรลาวในปัจจุบัน) มาใช้ประทับลงบนเงินเจียงแทน
![]() |
อักษรฝักขาม อาณาจักรล้านนา |
เศรษฐกิจและการค้าสมัยล้านนา
อาณาจักรล้านนา พื้นที่โดยรวมของอาณาจักรมีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีแอ่งที่ราบและภูเขาโอบล้อมรอบ ตั้งอยู่บริเวณทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ด้านเหนือสุดถึงมณฑลยูนนาน บริเวณสิบสองปันนา (จิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) ตะวันตกถึงแม่น้ำสาละวิน ตะวันออกถึงแม่น้ำโขง และทิศใต้ถึงเมืองศรีสัชนาลัยในอาณาจักรสุโขทัย นามว่าอาณาจักรล้านนา เป็นตัวบ่งบอกและอัตลักษณ์อาณาจักรอย่างเด่นชัด ที่ว่า "อาณาจักรแห่งนาเป็นล้าน" โดยระบบเศรษฐกิจหลักมี "ข้าว" เป็นตัวขับเคลื่อน มีภาษาและอักษรเขียนเป็นของตนเอง
หลังจากที่พญามังรายสถาปนาอาณาจักรล้านนาและเมืองเชียงใหม่ขึ้นสำเร็จในปี พ.ศ. 1839 โดยได้กำหนดมาตรฐานและสร้างระบบเงินตราของตนขึ้นมาเพื่อใช้ในการค้าขายภายในอาณาจักร เงินตราที่สำคัญชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "เงินเจียง"
ซึ่งถือเป็นเงินที่มีค่าสูงสุดในระบบเงินตราล้านนา และใช้ร่วมกับเงินอื่นๆ ด้วย เช่น หอยเบี้ย เงินท้อก เงินวงตีนม้า เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู เป็นต้น
![]() |
พญามังราย |
เชียงใหม่ ในขณะนั้นทำหน้าที่เสมือนเป็นเมืองศูนย์กลางซื้อขายและรวบรวมสินค้าจากเมืองเหนือตอนบนส่งให้อยุธยาและเมืองท่าทางตอนใต้ของพม่า อ้างอิงจากเอกสารตะวันตกกล่าวถึง "ชะมดเช็ด" ว่าเป็นสินค้าสำคัญจากเชียงใหม่และสินค้าที่พ่อค้าตะวันตกนิยมเพราะได้กำไรมาก รวมถึง ครั่ง หนังกวาง และกำยาน
ช่วงปลายอาณาจักรอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีหลักฐานว่าพระคลังหลวงทำการค้าขายกับเมืองต่างๆรวมทั้งเชียงใหม่ โดยอยุธยาได้นำสินค้าเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเครื่องเพชรพลอย กำยาน และขี้ผึ้ง จึงทำให้สินค้าจากเชียงใหม่กระจายไปยังต่างประเทศโดยมีอยุธยาเป็นพ่อค้าคนกลางผู้รวบรวมสินค้าและกระจายสินค้าออกไป
ทั้งนี้เชียงใหม่มิได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้เองทั้งหมด แต่เป็นเพียงผู้รวบรวมสินค้าจากรัฐทางตอนเหนือและจีน ส่งไปยังอยุธยาอีกต่อหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาสินค้าที่ส่งออกไปอยุธยา มีทองคำ เพชรพลอย และชะมดเชียง ที่มิได้หาได้ภายในอาณาจักร ต่างก็เป็นสินค้าที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้แก่อยุธยาอย่างมาก เนื่องด้วยจีนไม่ทำการค้าขายโดยตรงกับชาติตะวันตก อยุธยาจึงได้เปรียบที่ยังสามารถค้าขายผ่านระบบบรรณาการ ทำให้สามารถนำสินค้าจีนออกมาค้าขายกำหนดราคาได้เอง
ในครั้งสมัยที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ก็ได้รับอิทธิพลวิธีการทำเงินจากพม่าและไทใหญ่ เช่น เงินดอกไม้ หรือ เงินผักชี มาใช้ปะปนร่วมกับเงินล้านนาแบบเดิม ต่อมาเมื่อครั้งล้านนาได้ผนวกรวมกันเข้ากับสยามเป็นมณฑลพายัพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เริ่มใช้เหรียญเงินของสยามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา